วิธีตรวจสอบราคาอสังหาริมทรัพย์ด้วยตนเอง

วิธีตรวจสอบราคาอสังหาริมทรัพย์ด้วยตนเอง

มีเงินนับเป็นน้อง มีทองนับเป็นพี่ แล้วถ้ามีที่ดิน บ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ล่ะ จะนับเป็นอะไรดี อสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงซึ่งใครๆก็อยากเป็นเจ้าของ เพราะไม่เพียงจะมีมูลค่าเท่านั้นยังสามารถใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์นั้นๆได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัย 4 อย่างที่อยู่อาศัย ให้เช่าสร้างรายได้ หรือจะใช้ปลูกพืช สวน ไร่ นา ทำการเกษตร เป็นต้น ดังนั้น อสังหาริมทรัพย์จึงเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตัวเองอย่างไม่มีใครสงสัย

มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาของอสังหาริมทรัพย์ โดยปกติที่คนทั่วๆไปจะรู้จักกันจะมี 3 แบบ คือ

1.ราคาประเมิน เป็นราคาที่เกิดจากการประเมินมูลค่าโดยบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ และมีใบอนุญาติในการประเมินราคาของอสังหาริมทรัพย์ โดยมีวิธีการประเมินราคาอยู่หลายวิธีเพื่อให้ทราบมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ เช่น วิธีวิเคราะห์มูลค่าจากต้นทุน วิธีวิเคราะห์มูลค่าจากรายได้ วิธีวิเคราะห์มูลค่าเทียบราคาตลาด เป็นต้น

2.ราคาซื้อขาย เป็นราคาที่เกิดขึ้นเมื่อความตกลงเสนอซื้อตรงกับความต้องการเสนอขายทำให้เกิดการซื้อขาย ซึ่งอาจไม่ตรงกับราคาประเมินก็ได้ เนื่องจากช่วงเวลาและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ทำให้ราคาซื้อขายอาจสูงขึ้นหรือต่ำกว่าราคาอื่นๆก็เป็นไปได้

3.ราคาประเมินทุนทรัพย์ เป็นราคาประเมินที่ออกโดยกรมธนารักษ์ ซึ่งจะใช้ประโยชน์ในการคำนวณราคาต่างๆของทางราชการ เช่น การจ่ายภาษี ซึ่งหลายๆครั้งอาจมีการเรียกราคาประเมินทุนทรัพย์ในชื่ออื่นๆ เช่น ราคาประเมินราชการ ราคาประเมินกรมที่ดิน ราคาประเมินกรมธนารักษ์ เป็นต้น

ประโยชน์รู้ราคาประเมินทุนทรัพย์ (ราคากรมธนารักษ์)

เหตุที่เราต้องทราบราคาประเมินทุนทรัพย์(ราคากรมธนารักษ์) เพราะราคาประเมินทุนทรัพย์นั้นจะถูกใช้ในการคำนวณต้นทุนของราคาอสังหาริมทรัพย์ด้วย เนื่องจาก การคำนวณค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมในกรณีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ตลอดจนการซื้อ-ขาย จะต้องใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ในการคำนวณ ค่าธรรมเนียม ภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ หรืออากรแสตมป์ ดังนั้น แม้ราคาที่ตกลงซื้อขายกันในราคาที่ต่ำแต่หากราคาประเมินทุนทรัพย์นั้นสูงก็จะทำให้ต้นทุนในการซื้อขายนั้นสูงตาม จึงมีความสำคัญอย่างมากในการที่จะต้องรู้ราคาประเมินทุนทรัพย์

นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว การรู้ราคาประเมินทุนทรัพย์ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น

1.ใช้ในการวิเคราะห์ศักยภาพของอสังหาริมทรัพย์ ทำเล หรือศักยภาพของโครงการในอนาคต

2.ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ไปประกอบการกำหนดราคาซื้อขายได้

4.ใช้ราคาประเมินทุนเป็นข้อมูลในการเจรจาและต่อรอง

วิธีตรวจสอบราคาประเมินทุนทรัพย์ด้วยตนเอง

ในปัจจุบันการตรวจสอบราคาประเมินทุนทรัพย์สามารถทำได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยสามารถทำเองได้ด้วยตนเอง ดังนี้

วิธีการตรวจสอบผ่านออนไลน์

การตรวจสอบราคาผ่านวิธีออนไลน์ได้ด้วยตัวเองนั้นสามารถทำได้ทั้งผ่านระบบเว็บไซต์และแอปพริเคชั่น โดยสำหรับเว็บไซต์นั้นมี 2 เว็บไซต์ คือ

1. https://landsmaps.dol.go.th/

2. https://assessprice.treasury.go.th/

โดยทั้ง 2 เว็บไซต์นั้นยังสามารถหาราคาได้ 2 วิธี คือ 1.วิธีค้นหาราคาจากข้อมูลบนโฉนดและ 2.วิธีค้นหาราคาแบบไม่มีข้อมูลบนโฉนด โดยมีรายละเอียดแต่ละวิธี ดังนี้

1.วิธีค้นหาราคาจากข้อมูลบนโฉนด การตรวจสอบราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินแบบมีโฉนด สามารถทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากการเตรียมข้อมูลที่อยู่บนโฉนดที่ดินให้พร้อมและทำตามนี้

1.1 เข้าใช้งาน เว็บไซต์กรมที่ดิน https://landsmaps.dol.go.th/ใส่ข้อมูล 1.จังหวัด 2.อำเภอ3.เลขโฉนด

1.2 เข้าเว็บไซต์กรมธนารักษ์ https://assessprice.treasury.go.th/ค้นหาได้ 2 แบบ คือ

1.2.1 ค้นจากเลขที่โฉนด ด้วยการกรอกเลขที่โฉนด หน้าสำรวจ และจังหวัด

1.2.2 ค้นหาจากเลขที่ดิน ด้วยการกรอกเลขที่ดิน ระวาง และจังหวัด

2.วิธีค้นหาราคาแบบไม่มีข้อมูลบนโฉนด บ้างครั้งผู้ที่ต้องการรู้ราคาที่ดินที่อยู่ในความสนใจ ซึ่งอาจหมายถึงคนต้องการซื้อ หรือนายหน้าที่ดิน แต่ยังไม่มีโฉนดหรือไม่มีข้อมูลอยู่เลย ต้องการตรวจสอบราคาประเมินที่ดินก็สามารถทำได้ด้วยตัวเองโดยทำตามขั้นตอน ดังนี้

2.1 เข้าเว็บไซต์ ระบบค้นหารูปแปลงที่ดิน ของกรมที่ดิน หรือ เปิดใช้งานแอปพลิเคชัน Landmaps

2.2 ค้นหาพื้นที่บริเวณที่ต้องการ โดยซูมแผนที่เข้าไปในบริเวณที่ตั้งที่ของที่ดินที่ต้องการหาราคา หรือค้นหาจากสถานที่สำคัญ หรือแลนด์มาร์คที่อยู่ใกล้เคียงในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งการใช้งานนั้นใกล้เคียงกับการหาสถานที่สำคัญบน Google maps

2.3 เมื่อค้นพบบริเวณพื้นที่ดินที่ต้องการแล้ว ให้ทำการดับเบิ้ลคลิ๊ก (คลิ๊ก 2 ครั้งติดต่อกัน) ในบริเวณดังกล่าว จากนั้นระบบจะแสดงขอบเขตที่ดินขึ้นมา พร้อมทั้งรายละเอียดข้อราคาที่ดินที่ต้องการค้นหาอยู่ให้ได้ดูทันที เห็นไหมว่าปัจจุบันเราสามารถที่จะหาข้อมูลราคาประเมินทุนทรัพย์ได้ด้วยตัวเองซึ่งทั้งสะดวกสบายและไม่ยุ่งยากเหมือนสมัยก่อนที่ต้องไปขอราคาประเมินทุนทรัพย์ด้วยตนเองที่กรมที่ดิน แต่ว่าแม้เราจะรู้ราคาแล้วแต่ถ้าต้องการใช้ข้อมูลราคาอย่างเป็นทางการก็ต้องทำการขอให้ทางกรมที่ดินออกหนังสือรับรองราคาประเมินอีกครั้งถึงจะใช้เป็นหลักฐานในการอ้างอิงกับทางราชการได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save